ประวัติของวัดศรีสุวรรณ

ศรีสุพรรณอารามหรือวัดศรีสุพรรณหรือวัดสุภัน ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่ อยู่บนพื้นที่ระหว่างกำแพงชั้นในและกำแพงชั้นนอก ในอดีตเป็นวัดหนึ่งในหมวดอุโบสถวัดนันทารามขึ้นแก่วัดหมื่นสาน

ประวัติความเป็นมา

วัดศรีสุพรรณสมัยราชวงศ์มังราย

    มีศิลาจารึกวัดศรีสุพรรณซึ่งทำด้วยหินทรายแดง จารึกประวัติวัดศรีสุพรรณด้วยอักษรฝักขาม ข้อความในศิลาจารึกวัดศรีสุพรรณ เป็นหลักฐานยืนยันว่าวัดศรีสุพรรณซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชนแห่งนี้ สร้างขึ้นในสมัยพระเมืองแก้วหรือพญาแก้วกษัตริย์ ราชวงศ์มังราย (พ.ศ.2038 – 2068) ซึ่งเป็นยุคทองของล้านนาที่สืบต่อมาจากสมัยพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ.1984 – 2030) และพญายอดเชียงราย (พ.ศ.2030 – 2038) ครั้งนั้นได้กัลปนาที่นาแปลงใหญ่และข้าวัดจำนวน 20 ครัวให้วัดศรีสุพรรณได้เริ่มต้นชุมชนวัดศรีสุพรรณอย่างเป็นทางการตั้งแต่ นั้นมา

วัดศรีสุพรรณยุคกาวิละฟื้นเมือง

    พ.ศ.2317 พญาจ่าบ้าน (บุญมา) เจ้ากาวิละ ร่วมกับกองทัพกรุงธนบุรีขับไล่พม่าออกจากเชียงใหม่ และต่อมา พ.ศ.2325 สมัยรัตนโกสินทร์ ได้แต่งตั้งเจ้ากาวิละครองเมืองเชียงใหม่ ในยุคนี้ได้มีการให้ผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในเมืองเชียงใหม่โดยส่วนที่เป็นช่างฝีมือทำเครื่องเงินให้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณรอบวัดศรีสุพรรณ เกิดเป็นชุมชนใหม่ซึ่งล้วนแต่เป็นชาวลุ่มน้ำคง ในสมัยต่อมา ในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 6 (พ.ศ.2399 – 2413) ปรากฏหลักฐานว่าพระองค์พร้อมเจ้าแม่อุษาชายาได้เป็นเค้าในการสร้างวิหารวัดศรีสุพรรณเมื่อ จ.ศ.1222 (พ.ศ.2403) 

วัดศรีสุพรรณสมัยเทศาภิบาล

ช่วง พ.ศ.2400 – 2420 ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 6
(พ.ศ.2399 – 2413) และสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7
(
พ.ศ.2413 – 2440) ในยุคก่อนสมัยเทศาภิบาล วัดยังเป็นทั้งแหล่งธรรมและแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชนที่ส่งบุตรหลานเข้าบวชเรียนจนมีโอกาสได้เป็นเจ้าอาวาสจนถึงสมัยเทศาภิบาล ในระยะแรกพระสงฆ์มีบทบาทในการสอนหนังสือที่วัดและชักชวนเด็กชายเข้าเรียน หนังสือ โดยใช้ศาลาวัดเป็นสถานที่เรียน ครั้น พ.ศ. 2464 มีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.2464″ มีการเกณฑ์เด็กชาย-หญิงเข้าโรงเรียน จนถึง พ.ศ.2466 ขุนจรรยา (กิมเส็ง เสียมภักดี) ศึกษาธิการเมืองเชียงใหม่ ร่วมกับพระอินตาธรรมวงศ์เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณในสมัยนั้น ตั้งโรงเรียนชั้นประถมศึกษาขึ้นที่วัดศรีสุพรรณโดยได้ศรัทธาวัดคือหนานคำปัน ซึ่งรับราชการ แผนกสรรพากรเชียงใหม่และแม่อุ้ยคำออน การัตน์ เชื้อสายเจ้านายจากลุ่มน้ำคงได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างศาลาวัดใช้เป็นสถาน ที่เรียนหนังสือของเด็กชาย-หญิง ทั้งในชุมชนวัดศรีสุพรรณและชุมชนข้างเคียงได้มาเรียนหนังสือ

วัดศรีสุพรรณสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

    ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ทหารญี่ปุ่นได้ใช้วัดศรีสุพรรณเป็นที่ตั้งกองทหารและกักกันเชลยศึก ทำให้โรงเรียนวัดศรีสุพรรณตองปิดการเรียนการสอน เมื่อสงครามโลกครั้งที่ สิ้นสุดลง สภาพภายในวัดศรีสุพรรณมีแต่พงหญ้าไม้ไผ่ ต้นฉำฉา ต้นตาลและต้นลาน รวมทั้งมีฝูงอีกาและนกต่างๆมาทำรัง ต่อมาในสมัยพระคำตัน (หนานคำตัน ไชยคำเรือง) เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณในสมัยนั้นได้ร่วมกับคณะศรัทธาวัด ก่อสร้างกำแพงวัดต่อจากสมัยพระมหาคำ ขนติพโล รวมทั้งได้สร้างศาลาตรงประตูวัดด้านทิศตะวันออกอีก หลัง
เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยจึงได้จัดให้มีงานฉลองกำแพงและศาลาวัด

สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

พ.ศ. 2500-2510 พระครูสถิตบุญญานันท์ (พระอธิการบุญชม สุนันโท) เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณและครูเอื้อน คลังวิเชียร ครูใหญ่โรงเรียนวัดศรีสุพรรณได้หาเงินเพื่อสร้างอาคารเรียน 2 ชั้น แล้วเสร็จใน พ.ศ.2507 ซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดของวัดได้มอบให้ขึ้นกับสังกัดเทศบาลนครเชียงใหม่ตามคำสั่งที่ประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2506 โดยโรงเรียนวัดศรีสุพรรณมีสีประจำโรงเรียน คือ สีเหลือง-แดง โดยสีเหลืองหมายถึงวัด ส่วนสีแดงหมายถึงชาติ

วัดศรีสุพรรณยุคทำสลุงหลวง

ในยุคนี้ ชุมชนเครื่องเงินวัวลายและชุมชนเครื่องเงินศรีสุพรรณได้สร้างสรรค์งานชิ้นสำคัญ ดังนี้

พ.ศ.2534
การทำสลุงหลวง น้ำหนักเงินสุทธิ 536 บาท ในวโรกาสเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ พระชนมายุครบ รอบ ในวันที่ เมษายน 2534

พ.ศ.2535
การทำสลุงหลวง “แม่” น้ำหนักเงินสุทธิ 2,535 บาท พร้อมฐานรองรับเป็นไม้สักสลักรูปช้าง เศียร ลงรักปิดทอง ในวโรกาสงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงเจริญพระชนมพรรษา รอบ

พ.ศ.2539
การทำสลุงหลวง “พ่อ” น้ำหนักเงินสุทธิ 2,999 บาท พร้อมฐานรองรับเป็นไม้สักแกะสลักรูปช้าง เศียร ลงรักปิดทอง ในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครองราชย์ครบ 50 ปี

วัดศรีสุพรรณยุคปัจจุบัน

พ.ศ.2535 พระอธิการสุพล สุทธสิโล ต่อมาได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูพิทักษ์สุทธิคุณ ทำหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณสืบแทนพระครูสถิตบุญญานันท์ซึ่งมรณภาพเมื่อพ.ศ.2533 และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณเมื่อ พ.ศ.2537 ท่านได้รับความร่วมมือจากชุมชนชาวบ้านศรัทธาวัดศรีสุพรรณ องค์กรภาคราชการทั้งในท้องถิ่นและส่วนกลาง ชุมชนวิชาการทั้งในท้องถิ่นและส่วนกลาง ภาคธุรกิจเอกชนและคณะบุคคลสำคัญ ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์เพื่อวัดศรีสุพรรณ ชุมชนวัดศรีสุพรรณและชุมชนย่านถนนวัวลายหลายประการ

บันทึกวัดศรีสุพรรณ

วัดศรีสุพรรณตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่ นอกเขตกำแพงเมืองชั้นใน (คูเมือง) และตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองชั้นนอก (แนวกำแพงดิน) อยู่ในชุมชนกลุ่มศิลปหัตถกรรมเครื่องเงิน เครื่องเขินและการหล่อระฆัง หล่อพระพุทธรูป ถนนวัวลาย ถนนช่างหล่อ วัดศรีสุพรรณปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ 100 ถนนวัวลาย
ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน 10 ตารางวา รวมทั้งบริเวณอันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเทศบาลวัดศรีสุพรรณตามศิลาจารึกของวัดศรีสุพรรณกล่าวว่าในปี พ.ศ. 2043 พระเจ้าพิลกปนัดดาธิราช หรือพระเมืองแก้วกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ (สมัยราชวงค์มังราย) และพระนางสิริยสวดีพระราชมารดาเจ้า โปรดเกล้าให้มหาอำมาตย์ชื่อ เจ้าหมื่นหลวงจ่าคำ นำพระพุทธรูปทองสำริดองค์หนึ่งมาประดิษฐานและสร้างวัดชื่อว่า “วัดศรีสุพรรอาราม”

วัดศรีสุพรรณอาราม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาจากพระเจ้าพิลกปนัดดาธิราช อาราธนาพระสงฆ์ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อพุทธศักราช 2052

ศาสนวัตถุและศาสนสถานที่สำคัญของวัด
1) หลักศิลาจารึก จารึกประวัติวัดด้วยอักษรฝักขามบนหินทรายแดง

2) พระพุทธปาฏิหารย์มิ่งขวัญพระเมืองแก้ว นพบุรีศรีนครเชียงใหม่ (พระเจ้าเจ็ดตื้อ) เป็นพระพุทธรูปหน้าตักกว้าง 3 ศอก สูง 4 ศอก ปางมารวิชัย เนื้อทองสัมฤทธิ์ ฝีมือช่างหลวง อัญเชิญมาประดิษฐานพร้อมสร้างศรีสุพรรณอารามในปีพ.ศ.2043 ปัจจุบันประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถเงินอายุกว่า 500 ปี

3) หอไตรสถาปัตยกรรมล้านนาโบราณ ใช้เป็นสถานที่เก็บคัมภีร์โบราณและใช้ประโยชน์อื่นๆของวัด

4) วิหาร สถาปัตยกรรมล้านนาบูรณะขึ้นสมัย “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” โดยพระเจ้ากาวิโรรส เมื่อพ.ศ. 2342 อายุกว่า 200 ปี และมีการบูรณะวิหารครั้งใหญ่ในปีพ.ศ. 2537-2541 นำโดย พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน มีการผสมศิลปะร่วมสมัย ในวิหารมีจิตรกรรมฝาผนัง ภาพผะเจ้าภาพโพธิปักขิยธรรม ภาพเมืองนิพาน ภาพสิบสองพระธาตุประจำปีเกิด ภาพพรหมมาจักรวาลธรรมาและจักรวาลเชียงใหม่ โดยใช้สีโทนทองและประดับฝาผนังด้วยหัตกรรมเครื่องเงินภูมิปัญญาท้องถิ่น ชาวบ้านศรีสุพรรณใช้เป็นศูนย์กลางประกอบศาสนกิจของวัดในปัจจุบัน

5) อุโบสถเงิน เริ่มก่อสร้างปี 2547 อุโบสถนี้เป็นอุโบสถเงินหลังเดียวและหลังแรกของโลกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปาฏิหาริย์ฯ (พระเจ้าเจ็ดตื้อ) การสร้างอุโบสถเงินสร้างบนฐานและพัทธสีมาอุโบสถหลังเดิม รูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนาก่อด้วยอิฐถือปูนประดับลวดลายทุกส่วนด้วยภูมิปัญญาหัตถกรรมเครื่องเงินโดยใช้กรรมวิธีบุดุนลวดลายด้วยแผ่นเงินบริสุทธิ์ แผ่นเงินผสมและวัสดุแทนเงิน(อลูมิเนียม)ประดับทั้งภายนอกและภายในอุโบสถ

6) พระธาตุเจดีย์วัดศรีสุพรรณ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุตามศิลาจารึกสร้างวัดในปีพ.ศ.2048 เป็นเจดีย์ที่ก่ออิฐถือปูนแบบล้านนาฝีมือช่างหลวง ทรงองค์ระฆังกลม ตั้งบนฐานดอกบัวคว่ำบัวหงาย แปดชั้น แปดเหลี่ยม ตั้งบนฐานทรงเหลี่ยม มีการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้งแต่ยังคงรักษารูปแบบดั้งเดิมไว้ได้ มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2518 ได้ก่ออิฐถือปูนครอบองค์เจดีย์เดิมไว้ด้านใน ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2539 ได้ซ่อมแซมฉาบปูนที่หลุดหาย และทาสีน้ำทอง คราวร่วมสมโภชน์ 700 ปี เมืองเชียงใหม่

ต่อมาเมื่อวันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2565 เจดีย์เกิดรอยร้าวขึ้นรอบองค์เจดีย์ วันต่อมา วันที่ 28 รอยร้าวเพิ่มขยายกว้างขึ้น ประกอบกับช่วงฝนตกชุกติดต่อกันหลายวันทำให้น้ำไหลซึมเข้าไปในองค์เจดีย์ ซึ่งสร้างมาได้ประมาณ 500 กว่าปี เจ้าอาวาสแจ้งรายงานเจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะอำเภอ
เมืองเชียงใหม่ ฝ่ายสาธารณูปการ กองช่างเทศบาลนครเชียงใหม่ และผอ.ศิลปกรที่ 7 เชียงใหม่ ตามลำดับ ต่อมาวันพฤหัสบดี ที่ 29 กันยายน 2565 เวลา 17.15น.องค์พระธาตุเจดีย์ล้มพังทลายลงมา